สมัยเด็กผมอยู่ ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เชื่อว่ามีชาวพวนอยู่มากที่สุด ชาวบ้านแทบทุกตำบล 10 คนเป็นพวน 8 คน ไทยเวียงกับเชื้อสายจีนอีกอย่างละ 1 คน “พวน” นะครับ ไม่ใช่ “ลาวพวน” อย่างที่ชอบเรียกกันผิดๆ มาถึงเดี๋ยวนี้ ชาวพวนนับถือทั้งพุทธศาสนากับผีปู่ตา ผีบรรพบุรุษ โดยแยกหิ้งพระต่างหาก ในหมู่บ้านยังมีศาลผีปู่ตา คล้ายๆ ศาลผีตาแฮกในภาคอีสาน ส่วนมากมักจะสร้างไว้ตามเนินโคกหรือจอมปลวกใหญ่ๆ บ้างเรียกว่า “หอบ้าน” ก็มี
ที่ตำบลหินปักจะมีพิธีกรรมเลี้ยงผีปีละครั้ง มีคนสูงอายุทำพิธีเรียกว่า “เจ้าจ้ำ” เชื่อว่าถ้าเซ่นไหว้ดี-ทำพลีถูกต้องครบถ้วน ผีปู่ตาจะมาคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป ปกติจะมีการเซ่นในวันสิ้นเดือนที่ตรงกับวันพระ โดยจัดอาหารคาวหวานและหมากพลู บุหรี่ แล้วใช้ใบตองห่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม นำไปวางไว้ตามทางสามแพร่ง ที่เชื่อตรงกันไม่ว่าไทยหรือพวน คือเป็นทางผีผ่าน บ้างนิยมไปวางไว้ข้างโบสถ์ก็มี…ถือเป็นการแจกอาหารทำทานให้ผีเปรตและผีไม่มีญาติด้วย พิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพก็น่าสนใจนะครับ
เมื่อมีการตายผิดธรรมชาติ เช่น ตายโหง พวกเราต้องฝังศพไว้ก่อน 3 ปีแล้วจึงขุดขึ้นมาเผา เพื่อรอให้วิญญาณไปผุดไปเกิดเสียก่อน ไม่งั้นอาจจะมาเอาชีวิตญาติสนิทมิตรสหายไปอยู่ด้วยก็ได้ อย่าล้อเล่นไปเชียว
ตอนที่หามศพลงจากบ้านแล้ว เจ้าของบ้านจะต้องรีบชักบันไดขึ้นทันที เพราะบ้านส่วนมากปลูกใต้ถุนสูง มีบันไดพาด จะเข้านอนก็ชักบันไดขึ้นเก็บ ไม่ให้พวกขโมยขโจรแอบย่องขึ้นมาได้ง่ายๆ
ถ้าเกี่ยวกับคนตายก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผีกลับขึ้นได้อีก…ไปแล้วไปเลย ว่างั้น! ขนาดนั้นยังไม่ค่อยวางใจ เมื่อเผาศพเสร็จแล้วก็จะนำน้ำส้มป่อยมาสาดบ้าน สาเหตุเพราะต้นส้มป่อยมีหนามมาก ถึงผีจะหาทางขึ้นบ้านได้ก็ไม่กล้าบุกรุกเข้าไปในห้องในหับ เพราะกลัวหนามตำเอานั่นละน่า ตอนหามศพออกจากบ้านก็ต้องใจหายใจคว่ำอีกแล้วครับ มีกฎเกณฑ์ที่ทุกคนล้วนรู้ๆ กันอยู่แก่ใจว่า ตอนหามศพไปป่าช้าน่ะ ห้ามวางโลงบนพื้นดินเด็ดขาด ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยหรือหิวน้ำหิวกะแช่แทบจะขาดใจก็เถอะเอ้า!
ถ้าทนไม่ไหวจนต้องเปลี่ยนคนหามโลงจริงๆ ก็ต้องไม่วางโลงลงพื้นดิน เพราะเชื่อถือกันฝังหัวว่าจะทำให้ผีมีอิทธิฤทธิ์ เฮี้ยนจัดระดับป่าช้าแตกได้ง่ายๆ “อย่าพาผีหยุด-อย่าพาผีเซา” นั่นคือความเชื่อกันมาหลายชั่วคนแล้ว! แต่อุบัติเหตุ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยนึกไม่ถึงก็ทำให้เกิดเรื่องสยองขวัญได้ง่ายๆ
ลุงพื้นผัวป้าแย้มเป็นนักขึ้นตาลตัวยงประจำหมู่บ้าน แกทำทั้งน้ำตาลสดและน้ำตาลเมา แถมตัดตาลอ่อนๆ มาเฉาะเปลือกเอาลูกตาลหวานฉ่ำมาแจกเด็กๆ กินเสมอ กรรมวิธีบนยอดตาลน่ะผมไม่รู้หรอกครับ นอกจากตอนที่แกนั่งขัดสมาธิอยู่โคนต้น ใช้มีดเฉาะลูกตาลมาร้อยเส้นตอก แล้ววางบนใบตอง พวกเด็กๆ ที่รวมทั้งผมชอบล้อมวงกินลูกตาลเฉาะแสนอร่อยปากลิ้น แถมชุ่มชื่นใจอย่าบอกใครเชียว
วันหนึ่งลุงพื้นก็ตกตาลลงมาแหลกเหลว…ผู้คนมาช่วยอุ้มไปสิ้นใจที่บ้านพอดี!
เหตุสยองเกิดซ้ำตอนช่วยกันหามโลงศพลงจากบ้าน ชักบันไดขึ้นเรียบร้อย แต่ก่อนจะถึงวัดก็เกิดเรื่องไม่นึกไม่ฝัน…นั่นคือ น้าปั่นคนหามโลงด้านหัวเกิดเดินสะดุดท่าไหนไม่รู้ล้มลงไปนั่งหน้าซีดเซียว โลงผีหล่นโครมลงมาท่ามกลาง ความตะลึงพรึงเพริดของทุกคน เดชะบุญที่โลงไม่แตกจนเห็นภาพอุจาดตาของศพในโลง…แต่คนอื่นๆ ล้วนแต่หน้าตาซีดเผือดเป็นไก่ต้มไปตามๆ กัน น้าลือเป็นคนหามโลงแทนน้าปั่น…ตกค่ำก็ฟังสวด นั่งๆ นอนๆ เป็นเพื่อนผีหรือ “เฝ้าผี” กันตลอดเวลา…สะดุ้งผวากันทุกคนเพราะได้ยินเสียงเคาะโลงโดยทั่วหน้า คืนแรกนึกว่าลุงพื้นจะฟื้นขึ้นมา แต่ก็พบร่างศพสงบนิ่งในท่าเดิม ปิดโลงได้ไม่นานก็เกิดเสียงกุกกัก ตามด้วยเสียงเคาะโลงอีกแล้ว ได้ยินถนัดทุกคนจนนั่งสะดุ้งเป็นกุ้งเต้นไปตามๆ กัน…จนกระทั่งฝังศพลุงพื้นแล้วเรื่องสยดสยองจึงเงียบไป!
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น